โรงพยาบาลน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

การอ่านหนังสือจากหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอนมีผลต่อสุขภาพหรือไม่

การอ่านหนังสือจากหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอนมีผลต่อสุขภาพหรือไม่

ทีมแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดทำการศึกษาเปรียบเทียบกลุ่มคนที่อ่านหนังสือจากหน้ากระดาษธรรมดา กับกลุ่มคนที่อ่านจากเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ ‪#‎E‬-reader ที่หน้าจอเปล่งแสง พบว่า กลุ่มที่อ่านจากอีรีดเดอร์จะหลับยากกว่า นอนหลับไม่สนิท และรู้สึกเหนื่อยล้ามากกว่าในวันรุ่งขึ้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่า คนเราควรจะลดการจ้องมองแสงจ้าลงในเวลากลางคืน

ทั้งนี้ ร่างกายคนเราทำงานตามนาฬิการ่างกายซึ่งใช้ปริมาณแสงเป็นตัวบอกเวลา แต่แสงสีฟ้าจากหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีความยาวคลื่นแบบเดียวกันไม่ว่าจะเป็นแสงจากจอสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต หรือแหล่งกำเนิดแสงจากหลอดแอลอีดีอื่นๆ จะรบกวนการทำงานของนาฬิการ่างกายให้รวน

การจ้องมองแสงสีฟ้าในเวลากลางคืนสามารถลดหรือหยุดการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งช่วยให้นอนหลับ โดยจากการทดลองกับคน 12 คนที่มาอยู่ในห้องแล็บทดสอบการนอนเป็นเวลาสองสัปดาห์ โดยใช้เวลา 5 วันอ่านหนังสือธรรมดาก่อนนอน และอีก 5 วันอ่านจากหน้าจอไอแพด พบว่า ผลตรวจเลือดจะมีปริมาณของฮอร์โมนเมลาโทนินลดลงเมื่ออ่านหนังสือจากหน้าจอไอแพด

ผลการทดลองนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารรายงานการประชุมของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐ โดยศาสตราจารย์ชาร์ลส์ เซสเลอร์ หัวหน้าคณะวิจัยกล่าวกับบีบีซีว่า แสงจากหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่จะฉายตรงเข้าไปในดวงตา ต่างจากการอ่านหนังสือธรรมดาหรือการอ่านจากคินเดิลที่เป็นอีรีดเดอร์รุ่นเก่าซึ่งแสงที่เข้าดวงตาผู้อ่านเป็นเพียงแสงสะท้อนจากหน้ากระดาษเท่านั้น และเมื่อการนอนถูกรบกวนก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยทำให้ความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคอ้วน เบาหวาน และมะเร็งเพิ่มขึ้น

ด้าน ดร. วิคตอเรีย รีเวล จากมหาวิทยาลัยเซอร์รีย์ของอังกฤษบอกว่า ควรจะแนะนำให้ผู้คนลดการจ้องมองจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเวลากลางคืน โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น ซึ่งมีนาฬิการ่างกายเดินช้ากว่าจนมักจะนอนดึกและตื่นสายอยู่แล้ว ซึ่งการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จนดึกดื่นยิ่งทำให้นาฬิการ่างกายเดินไม่ทันเวลาจริงมากเข้าไปอีก และวัยรุ่นที่ต้องตื่นเช้าไปโรงเรียนก็ยิ่งน่ากังวลเป็นพิเศษ

facebook/BBCThai

 

: 16 มกราคม 2018 : Admin 1611